
Anthroposphere: ขวัญชัย ลิไชยกุล
Apollo and Daphne: GI-OK JEON (กิ-ออค จอง)
GOLEM2022: Embodying the monster: เรืองศักดิ์ อนุวัตรวิมล
นานแล้วที่ไม่ได้อัปเดตนิทรรศการใหม่ ๆ ของ SAC Gallery โพสต์นี้วาฬเลยถือโอกาสรวมนิทรรศการหลักทั้ง 3 ทั้งเก่าและใหม่ ที่กำลังจัดแสดงอยู่ ณ ตอนนี้ และนำเอาแนวคิดแบบคร่าว ๆ ของแต่ละงาน มาบอกเล่าให้กับทุกคนได้ติดตามกันครับ พูดเลยว่า นอกจาก ความสวยงามแล้ว หนนี้เนื้อหายังออกแนวเข้มข้นมาก ๆ อีกด้วย อ่านจบแล้ว ตามมาชมกันเยอะ ๆ นะครับ มีถึง 3 งานจุก ๆ รับรองว่า คุ้มค่าแน่นอน ขอไล่กันไปทีละชั้นตามนี้เลยนะครับ
งานแรก Anthroposphere @ชั้น 1 จัดแสดงจิตรกรรมทิวทัศน์แบบ bird’s-eye view ที่ได้รับแรงบันดาลใจมาจากการวาดภาพตามฝาผนังโบสถ์ ซึ่งใช้กันในบริบทศาสนาเป็นหลัก โดยศิลปินได้หยิบยืมมาเล่าในมุมตรงกันข้าม นั่นคือ ชีวิตในทางโลก ที่หากมองเร็ว ๆ ด้วยความคุ้นชิน อาจดูเหมือนเรียบง่ายธรรมดา แต่ลึกลงไปกลับอัดแน่นด้วยความสลับซับซ้อน อันเกิดจากความหลากหลายและความขัดแย้ง เราจะได้เห็น กิจกรรมของมนุษย์ โครงสร้างของความสัมพันธ์ทางชนชั้น การใช้อำนาจ และการเคลื่อนที่ไปของระบบสังคม ที่ล้วนไม่ห่างไกลไปจากประสบการณ์และความทรงจำของคนไทย
ต่อกันด้วย Apollo and Daphne @ชั้น 2 รวบรวมจิตรกรรมนามธรรม และศิลปะจัดวางจากวัสดุที่หลากหลาย โดยมุ่งชูผลลัพธ์ของการสร้างสรรค์ผลงานศิลปะด้วยการผสมผสานองค์ประกอบที่ถูกนิยามด้วยเส้นแบ่งบางอย่างว่าเป็นคู่ตรงข้ามกัน โดยเฉพาะ สุนทรียภาพแบบตะวันตก (งานนามธรรม) และตะวันออก (การวาดภาพด้วยพู่กันจีน) และ ความคลุมเครือของการเป็นงานประดิษฐ์ (ใช้ทักษะฝีมือ) และงานศิลปะร่วมสมัย (จัดการวัสดุสำเร็จรูปให้เกิดเป็นงานใหม่) เพื่อสื่อสารว่า บรรยากาศที่อบอวลไปด้วยความแตกต่างหลากหลาย (และบางครั้งเหมือนจะเข้ากันไม่ได้) นั้น มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการส่งมอบความมีชีวิตชีวาให้กับศิลปะ ความคิด และสังคมมนุษย์
ปิดท้ายกันที่ GOLEM2022: Embodying the monster @ชั้น 3 นำเสนอการตีความ golem ตามตำนานพื้นบ้านที่ปรากฏในหลายแหล่งวัฒนธรรม เป็นสิ่งมีชีวิตที่สร้างขึ้นจากดินเหนียวด้วยเวทมนต์ศักดิ์สิทธิ์ เพื่อใช้งานให้เป็นผู้คอยปกป้องคุ้มครองผู้ที่สร้างมันขึ้นมา ศิลปินมองว่า golem สะท้อนถึง ความปรารถนาของมนุษย์ที่ต้องการเปลี่ยนร่างกายของตนให้เข้าใกล้ความสมบูรณ์แบบ ทั้งในมิติด้านความแข็งแกร่ง ความงดงาม และความเป็นนิรันดร์ มนุษย์จึงพยายามทำทุกวิถีทางเพื่อปรับแปลงสภาพทางกายภาพ แม้ว่าจะต้องแลกมาด้วยการทำลายล้างธรรมชาติ การกลืนกินทรัพยากร และการเบียดเบียนผู้อื่นมากเพียงใดก็ตาม โดยเราจะได้พบกับ golem ผ่านผลงานต่าง ๆ เช่น ชิ้นส่วนของร่างกายมนุษย์ที่ทำขึ้นจากชิ้นส่วนของสิ่งมีชีวิตสายพันธุ์อื่น ๆ นำมาเผาจนเหลือเพียงฝุ่น ภาพร่างของอวัยวะแต่ละชิ้นที่ผูกโยงกับการให้คุณค่าของความเชื่อพื้นถิ่น และภาพเขียนของโครงสร้างและรูปลักษณ์ของมนุษย์ในอนาคตที่เป็นปลายทางของวัฒนธรรมบริโภคนิยม ฯลฯ
ต้องออกตัวก่อนว่า ทั้งหมดนี้เป็นแค่ข้อมูลเบื้องต้น + การตีความส่วนตัวของวาฬเท่านั้น จริง ๆ แล้ว แต่ละนิทรรศการมีประเด็นที่ลุ่มลึกยิ่งกว่านี้ไปอีกไกลเลยนะครับ ใครสนใจรายละเอียดเพิ่มเติมเวอร์ชันจัดเต็มและเข้มข้นกว่านี้ ก็สามารถสอบถามได้จาก ศิลปิน หรือภัณฑารักษ์ ของทาง SAC Gallery ได้เลย ทุกคนเก่งและเล่าเรื่องได้สนุกมากครับบบ
พิกัด: SAC Gallery ซอยสุขุมวิท 39ม กรุงเทพ ฯ
เวลา: 10.00 – 18.00 น. (ปิดวันอาทิตย์ และวันจันทร์)
ระยะเวลา
Anthroposphere @ชั้น 1: วันนี้ไปจนถึงวันที่ 9 กรกฎาคม พ.ศ.2565
Apollo and Daphne @ชั้น 2: วันนี้ไปจนถึงวันที่ 21 พฤษภาคม พ.ศ. 2565
GOLEM2022: Embodying the monster @ชั้น 3: วันนี้ไปจนถึงวันที่ 4 มิถุนายน พ.ศ. 2565