
Fujiko F. Fujio Museum, Kawasaki – Japan
พิพิธภัณฑ์ฟูจิโกะ เอฟ ฟูจิโอะ, คาวาซากิ – ญี่ปุ่น
พิพิธภัณฑ์โดราเอมอน เป็นที่รวบรวม และจัดแสดง เรื่องราวของ อาจารย์ ฟูจิโกะ เอฟ ฟูจิโอะ ผู้ล่วงลับ เจ้าของผลงานการ์ตูน ที่คนไทยรู้จักกันเป็นอย่างดี ทั้ง “ผีน้อยคิวทาโร่” (Obake no Q-Taro) ที่เขียนร่วมกับ อาจารย์ โมโตโอะ อาบิโกะ (Motoo Abiko), “ปาร์แมน” (Paman), “โดราเอมอน” (Doraemon) ที่โด่งดังไปทั่วโลก และ อื่น ๆ อีกมากมาย ใครที่เป็นแฟนการ์ตูนระดับตำนานเหล่านี้ ต้องลองมาสัมผัสกันให้ได้เลยครับ
ก่อนจะถึง พิพิธภัณฑ์โดราเอมอน ด่านแรกที่รอต้อนรับเราอยู่ก่อนเลย ก็คือ สถานีโนะโบริโตะ (Noborito) สถานีรถไฟ ที่ต้องมาลง ก่อนจะไปต่อรถบัส ซึ่งได้ถูกแปลงโฉมใหม่ ให้กลายเป็นสถานีโดราเอมอนไปแล้ว (ปี 2562 นี้เลย) นั่นเอง ภายในเต็มไปด้วย “ความโดราเอมอน!!” ในทุก ๆ จุด ไม่ว่าจะเป็น ป้ายบอกชาลา, ลิฟท์, ถังขยะ, ที่นั่งรอรถไฟ ไปจนถึง ห้องน้ำของสถานี นี่ขนาดยังไม่ถึง บรรยากาศก็มาเต็มแล้ว
เมื่อเข้ามาภายใน เราสามารถขอรับ Audio Guide (เสียงภาษาอังกฤษ) เพื่อฟังข้อมูลต่าง ๆ ในห้องนิทรรศการ เกี่ยวกับ ของใช้ที่จำเป็นในการเขียนงาน และประวัติผลงานชิ้นสำคัญ ของ อาจารย์ฟูจิโกะ ในบริเวณชั้น 1 ได้โดยไม่มีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมครับ แต่ทางพิพิธภัณฑ์ไม่อนุญาตให้ถ่ายภาพผลงานเหล่านี้นะครับ ยังไงก็ต้องระวังกันด้วย ส่วนสายช้อปทั้งหลายก็สบายใจได้เลยครับ มีร้านจำหน่ายสินค้าลิขสิทธิ์น่ารัก ๆ ให้เลือกซื้อกันอย่างจุใจ ที่ชั้น 1 นี้เอง ตัวร้านจะอยู่ก่อนทางออกฮะ
ที่ชั้น 2 จะเป็นห้องหนังสือการ์ตูนครับ สามารถเลือกหยิบมานั่งอ่านได้เลย นอกจากนี้ ยังมีโรงหนังเล็ก ๆ ที่เปิดฉายอะนิเมะสั้น ความยาวประมาณ 15 – 20 นาที ให้เราเขาไปดูฟรี ๆ อีกด้วย เนื้อเรื่องก็จะเป็นการนำตัวละครจากการ์ตูนของ อาจารย์ฟูจิโกะ มาผจญภัยหรือทำภารกิจร่วมกันนั่นเอง รับรองว่าเป็นเวอร์ชั่นที่หาชมไม่ได้จากที่อื่นอย่างแน่นอนครับผม
สำหรับชั้น 3 นั้น จะแบ่งออกเป็น 2 ส่วนหลัก ๆ ได้แก่ ด้านในที่เป็นคาเฟ่ มีอาหาร ขนม และเครื่องดื่ม ลวดลายโดราเอมอน ที่ทำออกมาได้น่ารักมาก ๆ คอยให้บริการอยู่ และด้านนอกตัวอาคารที่มีรูปปั้นของตัวละครต่าง ๆ ในขนาดเท่ากับตัวจริง ให้เราได้ถ่ายรูปกันอย่างเต็มที่อีกด้วยครับ
มาถึงเรื่องสำคัญที่สุดฮะ อันเนื่องมาจาก คนเข้าชมเยอะมาก จำเป็นต้องจำกัดจำนวนในแต่ละวัน ทำให้ไม่มีตั๋วขายด้านหน้าพิพิธภัณฑ์โดราเอมอนเด็ดขาด ดังนั้นเราจะต้อง ซื้อตั๋วล่วงหน้า (ซื้อล่วงหน้าอย่างน้อย 1 วัน) จากร้านสะดวกซื้อ “ลอว์สัน” (Lawson) ในญี่ปุ่น วิธีการคือ ไปที่ตู้ขายตั๋วอัตโนมัติ Loppi เลือก เดือน, วันที่ และ รอบเวลาที่จะเข้าชม เสร็จแล้วให้นำสลิปไปจ่ายเงินที่เคาท์เตอร์ลอว์สันได้เลย จากนั้นพนักงานก็จะให้ตั๋วเรากลับมาครับ
แต่เนื่องจากตู้ Loppi เป็นภาษาญี่ปุ่นทั้งหมด อีกวิธีที่ง่ายกว่า ก็คือ ถ้าจังหวะที่คนในลอว์สัน ไม่เยอะมาก เราก็สามารถขอให้ทางพนักงานช่วยกดให้ได้ครับ หรือ จะใช้วิธีซื้อตั๋วออนไลน์จากเมืองไทยไปเลย ผ่านแพลตฟอร์มการจองกิจกรรม และบริการด้านการท่องเที่ยวต่าง ๆ ก็ได้เช่นกันฮะ
?พิกัด: https://goo.gl/maps/PR8dGT9SbNT7C4me9
?การเดินทาง: จากสถานี Shinjuku นั่งสาย Odakyu (ปลายทาง Odawara) ไปลงที่สถานี Noborito แล้วออกมาขึ้นรถบัสไปยังพิพิธภัณฑ์
⏰เวลา: 10.00 – 18.00
ค่าเข้า: 1,000 เยน (ต้องจองล่วงหน้า ไม่มีขายบัตรที่หน้าพิพิธภัณฑ์ )
(จองตั๋วผ่านร้าน Lawson ที่ตู้ Loppi รอบที่เปิดให้เข้า คือ 10.00 น. / 12.00 น. / 14.00 น. / 16.00 น. (เข้าแล้วสามารถอยู่ยาวได้เลย) วิธีจองดูได้ที่ https://l-tike.com/fujiko-m/english/)
หรือจองตั๋วออนไลน์จากไทย >> https://bit.ly/2KR9L2g
เว็บไซต์: http://fujiko-museum.com/english/

สถานีโนะโบริโตะ (Noborito) สถานีรถไฟ ที่เราต้องมาลง เพื่อเปลี่ยนไปขึ้นรถบัส ไปยังพิพิธภัณฑ์ ตอนนี้กลายเป็นสถานีโดราเอมอนไปแล้วครับ

การเดินทางจากโตเกียวที่ง่ายที่สุด ให้เริ่มต้นจาก สถานีชินจูกุ (Shinjuku) แล้วนั่งรถไฟสาย Odakyu Line (ปลายทาง Odawara) ไปลงที่สถานีโนะโบริโตะ (Noborito) ใช้เวลาเพียง 16 นาทีเท่านั้น






มาถึงเมืองคาวาซากิ (Kawasaki) แล้วครับ จากสถานีโนะโบริโตะ (Noborito) เราต่อรถบัสอีกไม่เกิน 10 นาที ก็จะถึงพิพิธภัณฑ์แล้ว

ป้ายรถบัสหาไม่ยากครับ มีรูปโดราเอมอน เขียนบอกที่หมาย ไว้ชัดเจนขนาดนี้ เช็คเวลาจากตารางข้างล่าง แล้วรอขึ้นรถได้เลย

รถบัสมาแล้ว ลวดลายชัด ไม่ขึ้นผิดแน่นอน

อย่าลืมซื้อตั๋วล่วงหน้า 1 วันจาก ลอว์สัน (Lawson) นะครับ วิธีการทั้งหมด วาฬอธิบายไว้แล้วที่หน้าโพสต์น้า

ระหว่างรอแถวหน้าทางเข้า จะมีกล่องใส่โมเดลน่ารัก ๆ จัดไว้ต้อนรับนักท่องเที่ยว ลองสังเกตดี ๆ มีภาษาไทยด้วยครับ

ที่สวนกลางแจ้งชั้น 2 จะมี “สระน้ำศักดิ์สิทธิ์” (Woodcutter Fountain) ที่ไจแอนท์ตกลงไป แล้วกลับขึ้นมา มีรูปร่างที่หล่อเหลา ตามเนื้อเรื่องในการ์ตูนเลย (คล้ายนิทานนางฟ้ากับคนตัดฟืน) ด้านหน้าจะมีคันโยก เราสามารถไปโยกได้ แล้วไจแอนท์จะปรากฏตัวขึ้นมาครับ

ห้องหนังสือการ์ตูนบริเวณชั้น 2 ที่สามารถเลือกหยิบมานั่งอ่านได้ตามสบายเลย

ที่ชั้น 2 จะมีโซนเด็กเล่นด้วยนะครับ

จากโมเดลบ้านเปล่า ๆ พอนำไอแพดไปส่องดู บนหน้าจอก็ปรากฏ ภาพเหล่าตัวการ์ตูนขึ้นมา น่ารักมาก ๆ เลย

บริเวณชั้น 2 ถ้าไม่ใช่ในห้องนิทรรศการ ที่จัดแสดงผลงาน ก็สามารถถ่ายรูปได้ฮะ


อีกหนึ่งไฮไลท์ของชั้น 2 ก็คือ ตู้กาชาปอง ที่บรรจุสินค้าสุดพิเศษ ซึ่งหาไม่ได้จากข้างนอก มาแล้วไม่ควรพลาด ที่จะไปลองลุ้นกันดูนะครับ

ยังคงอยู่ที่ชั้น 2 ครับ โดยด้านหลังของพนักงาน จะเป็นทางเข้าโรงหนังขนาดเล็กของที่นี่นั่นเอง

โรงหนังที่จะฉายอะนิเมะสั้น ความยาวประมาณ 15-20 นาที สามารถเข้าชมได้ฟรี ตามรอบที่ทางพิพิธภัณฑ์จัดไว้ ส่วนเนื้อเรื่องก็จะเอ็กซ์คลูซีฟมาก ๆ ฮะ เพราะเป็นการรวมตัวการ์ตูนดังจากหลาย ๆ เรื่องที่เป็นฝีมือของ อาจารย์ฟูจิโกะ รับรองว่าไม่สามารถหาชมจากที่อื่นได้อย่างแน่นอน

อาจารย์ ฟูจิโกะ เอฟ ฟูจิโอะ กับ เหล่าตัวการ์ตูนระดับตำนาน ที่อยู่ในความทรงจำวัยเด็ก ของพวกเราทุกคน


“ประตูไปที่ไหนก็ได้” หรือ “ประตูทุกหนแห่ง” ของวิเศษชิ้นสำคัญของโดราเอมอน อยู่ที่ชั้น 3 เช่นกันฮะ






“ผีน้อยคิวทาโร่” (Obake no Q-Taro) อีกหนึ่ง ตัวละครในผลงานชิ้นสำคัญของ อาจารย์ ฟูจิโกะ ที่เขียนร่วมกับ อาจารย์ โมโตโอะ อาบิโกะ (Motoo Abiko) นั่นเองฮะ

ช็อปเล็ก ๆ บนชั้น 3 ก็เป็นอีกจุดที่ไม่ควรพลาดครับ บนนี้มีสินค้าที่ไม่ซํ้ากับในร้านขายของที่ระลึกของชั้น 1 ด้วยนะ

มิวเซียมคาเฟ่ คนเยอะมาก ๆ เลย


เมนูของวาฬที่มิวเซียมคาเฟ่ ก็คือ “โดราโดร่า ซัมเมอร์เซ็ต” วาฬเลือกเซ็ต A ซึ่งประกอบไปด้วย อาหารหลัก, ของหวาน และเครื่องดื่ม ครบเลยครับ ในรูปนี้คือ อาหารหลัก: สปาเก็ตตี้ซอส และ เนื้อสับทอด

มาต่อกันที่ของหวาน กับเมนู “โดราเอมอน & โดเรมี โรลเค้ก” (Doraemon & Dorami roll cake) น่าร้ากกก

ปิดท้ายด้วยเครื่องดื่ม: โดราเอมอน บลู (Doraemon blue) หอม เย็น ชื่นใจ สุด ๆ ครับ

ร้านขายของที่ระลึกบริเวณชั้น 1 บอกได้เลยว่า มาแล้วต้องซื้อครับ สินค้าแตกต่างจากข้างนอกอย่างแน่นอน ห้ามเสียดายตัง ๆ

#วาฬมีปีก ? สามารถติดตามวาฬผ่านช่องทางอื่น ๆ ได้ตามนี้เลยนะครับ
Website >> www.flyingwhale.me
IG >> https://www.instagram.com/flyingwhale.mag/
รีวิวที่เที่ยวอื่น ๆ ในโตเกียว >> https://flyingwhale.me/guide-book/travelwithkidintokyo/
รีวิวย่าน Koenji >> https://flyingwhale.me/guide-book/kichijoji/
รีวิวย่าน Kichijoji >> https://flyingwhale.me/guide-book/japan/koenji/